สำนัก 18 อรหันต์แห่งประเทศไทย http://thai18luohan.siam2web.com/

 

หนังสือพิมพ์ Daily News

เปิดยุทธจักรสวนลุมฯ

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 26 ตุลาคม 2548 09:33 น.

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
อาจารย์เฉินร่ายรำกระบวนท่าในวิชาวูซู



อาจารย์อนันต์ ทินะพงศ์ กำลังสาธิตการใช้กระบองมังกรพยัคฆ์ทะยานกับลูกศิษย์

ชาวต่างประเทศที่สนใจมาฝึกมวยจีนในสวนลุม

กระบวนท่าหนึ่งในวิชาฝ่ามือแปดทิศหรือปากั้วจ่าง มวยภายใน 1 ใน 3 วิชาที่ขึ้นชื่อของจีน

อาจารย์เส็งอธิบายกำลังอธิบายว่าวูซูคืออะไร

ภราดา รัศมี แกนนำกลุ่มเสื้อดำ กลุ่มผู้สนใจศิลปะการต่อสู้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในสวนลุมฯ

การนำวูซูไปใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัว

เด็กหนุ่มคนหนึ่งฝึกซ้อมกระบองสามท่อน อันเป็นส่วนหนึ่งของวูซู

ผู้คนหลากเพศหลากวัยที่สนใจในศิลปะการต่อสู้ เดินทางมาที่สวนลุมฯ แห่งนี้เพื่อฝึกซ้อมศิลปะการต่อสู้ในแขนงที่ตนสนใจ

ในโลกอันใหญ่โตใบนี้ มีโลกเล็กๆ อีกหลายโลกบรรจุอยู่... กับคนที่ชอบอ่านนวนิยายจีนกำลังภายใน คงมีบ่อยครั้งที่กิมย้ง หวงอี้ หรือมังกรเมา-โกวเล้งพาคุณพลัดหลงเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการ เพื่อพบปะกับเหล่าจอมยุทธ์ในนวนิยายที่ฝากฝีไม้ลายมือเป็นที่กล่าวขวัญ แต่คงมีไม่กี่คนที่จะรู้ว่า ในซอกมุมเล็กๆ ของมหานครกรุงเทพแห่งนี้ ยังมีดินแดนแห่งหนึ่งที่เป็นแหล่งรวมของบรรดาผู้สนใจวิทยายุทธ์
       
       ดินแดนที่บรรดาผู้ฝึกศิลปะการต่อสู้หรือจะเรียกว่าจอมยุทธ์ก็ได้ยังเดินกันอยู่เพ่นพ่าน เด็กบ้าง มีอายุบ้าง เก่งบ้าง ไม่เก่งบ้าง แน่นอนว่า อาจจะแตกต่างกันที่ว่า ในโลกจอมยุทธ์แห่งนี้ไม่ได้มีการเข่นฆ่าห่ำหั่นกันด้วยบุญคุณความแค้นอย่างที่เรารับรู้จากนวนิยาย
       
       แต่เป็นดินแดนที่อยู่กันอย่างค่อนข้างสงบสุข แบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ในสิ่งที่ตนรัก-ศิลปะการต่อสู้
       
       *ก่อกำเนิดยุทธจักร
       
       แสงแดดอุ่นๆ ยามเช้า หล่นเกลื่อนเปื้อนเปรอะทั่วไปตามต้นไม้ใบหญ้า ผู้คนจำนวนมาก หลากเพศ หลายวัย ต่างเดินทางมาที่สวนสาธารณะลุมพินี สวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร มันวางตัวนิ่งสงบอยู่พื้นที่ 360 ไร่ มานานตั้งแต่ปีพ.ศ.2468 วันหนึ่งๆ มีใครต่อใครมาใช้บริการสวนแห่งนี้เฉลี่ยถึง 3,000 คนต่อวัน
       
       ยามเช้าตรู่หากได้เดินสำรวจดู เราจะพานพบชีวิตที่โลดแล่นอยู่ในนั้น ในบรรดาชีวิตเหล่านี้ มีอยู่ไม่น้อยกลุ่มกำลังร่ายรำกระบวนท่าแปลกๆ อยู่ บ้างเชื่องช้านุ่มนวล บ้างดุดันแข็งแกร่ง แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้พวกเขาทำไปก็เพื่อนำพาตนเองไปสู่ความสำเร็จในศาสตร์ที่เรียกโดยรวมๆ ว่าศิลปะการต่อสู้
       
       เป็นที่รู้มาแต่ไหนแต่ไรว่า สวนลุมฯ เป็นแหล่งที่มีผู้สูงอายุมาออกกำลังกายด้วยการฝึกไท้เก็กกันอยู่เป็นจำนวนมาก หากในอีกความหมายหนึ่งของไท้เก็กที่ดูเชื่องช้านั้น ความจริงมันคือศิลปะการต่อสู้แขนงหนึ่ง และก็มีการสันนิษฐานกันว่าไท้เก็กอาจเป็นวิชาแรกๆ ที่มีการสอนกันในสวนลุมฯ จากอาจารย์ที่เป็นชาวจีน
       
       พูนศักดิ์ ธนพันธ์พาณิช เป็นผู้หนึ่งที่สนใจศิลปะการต่อสู้ที่เรียกว่าปากั้วจ่าง หรือแปลเป็นไทยว่าฝ่ามือแปดทิศ เขาเดินทางมาฝึกที่สวนลุมนี้ประมาณ 6 ปีแล้ว เล่าให้ฟังถึงที่มาการสอนมวยในสวนลุมฯ ให้ฟังว่า
       "เท่าที่ผมได้ยินมาเกี่ยวกับการเปิดสอนมวยในสอนลุมฯ มันมีมานานพอๆ กับที่คนจีนรู้จักมาออกกำลังกายในสวนลุมฯ หมายความว่าถ้าย้อนไปเมื่อ 30-40 ปีก่อนนั้นมันมีแล้วหรือยัง ก็คือมีแล้ว ตั้งแต่สมัยที่เก๋งแดงเพิ่งสร้าง สวนลุมฯ ยังเป็นที่ว่าง ก็มีการกล่าวถึงการสอนมวยในสวนลุมฯ มานานแล้ว พวกครูมวยรุ่นแรกๆ ในสวนลุมก็คือกลุ่มแต้จิ๋ว พ่อค้าแต้จิ๋ว"
       
       แต่นี่ก็เป็นเพียงการสมมติฐานเท่านั้น เพราะแม้แต่ อนันต์ ทินะพงศ์ อาจารย์ผู้เผยแพร่มวยหย่งชุนและเปิดสอนที่นี่มานานถึง 18 ปีแล้ว ก็ไม่อาจให้คำตอบที่กระจ่างได้ว่าการสอนมวยในสวนลุมฯ เกิดขึ้นเมื่อใด
       
       "เรื่องนี้ผมคงไม่รู้ เพราะคนที่อยู่ที่นี่มาและเปิดสอนมวยมีมานานมาก สมัยก่อนอาจารย์โค้วเปี๊ยะฮะก็มาสอนที่นี่ ท่านเป็นอาจารย์ลุงผม ปัจจุบันนี้ก็มีอาจารย์หลายท่านที่เป็นศิษย์อาจารย์โค้ว อาจารย์เก่าๆ ที่มีอยู่ก็อย่างอาจารย์โอวซึ่งตอนนี้กลับไปแล้ว ตอนนั้นท่านก็สอนลูกศิษย์หลายคน ศิษย์ผมบางคนก็เรียนกับอาจารย์โอวมาก่อน พวกนี้จะอยู่กันมานาน อย่างตอนที่ผมมาเปิดสอนที่นี่ จะมีอาจารย์ที่สอนมวยอยู่ก็อย่างอาจารย์เฮ้ง"
       
       คงไม่มีหลักฐานชัดเจนใดๆ ที่จะชี้ชัดได้ว่า ใครคือคนแรกที่เปิดสอนศิลปะการต่อสู้ในสวนลุมฯ แห่งนี้ แต่หากกวาดตาทั่วสวนลุมฯ เราจะพบเห็นสำนักมวยกระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ
       
       *ยุทธจักรสวนลุมฯ และสำนักต่างๆ 
       
       คอนวนิยายกำลังภายในรับรู้กันดีว่า 'พรรคกระยาจก' คือสำนักมวยที่มีลูกศิษย์ลูกหาท่วมท้นที่สุด แต่ในสวนลุมฯ ไม่ได้มีสำนักใดใหญ่โตเหมือนในนวนิยาย เนื่องจากมีทั้งขาประจำ ขาจรผลัดเปลี่ยนเวียนหมุนกันเข้ามาไม่ขาดสาย ทั้งนี้ ยังไม่รวมกลุ่มที่ฝึกมวยโดยเน้นเรื่องสุขภาพเป็นหลักซึ่งน่าจะมีอยู่ไม่น้อยกว่า 10 กลุ่มในสวนลุมฯ
       
       แต่หากเราจะจัดแบ่งเฉพาะที่เน้นไปในเรื่องศิลปะการต่อสู้กันจริงๆ แล้ว อาจกล่าวได้ว่าในสวนลุมฯ ขณะนี้ มีการสอนศิลปะการต่อสู้โดยเปิดเป็นสำนักที่ชัดเจนอยู่ 4 สำนัก กับอีก 1 กลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย
       
       สำนักมวยหย่งชุนของอนันต์ ทินะพงศ์ หรืออาจารย์อนันต์, ชมรมวูซูจีนแห่งประเทศไทยของ เฉินเส้ายิน หรือเฉินเหล่าซือ, สำนักฝ่ามือแปดทิศแห่งลานตะวันยิ้มที่จะมีอาจารย์จากเมืองจีนชื่อ หลี่เหว่ยตง เดินทางมาสอน, สำนักวูซูของ แสง แซ่ลี้ หรืออาจารย์เส็ง และกลุ่มเสื้อดำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกเรียกขานจนรับรู้กันในสวนลุมมี ภราดา รัศมี เป็นแกนนำ
       
       แต่ละสำนักหรือกลุ่มเหล่านี้จะฝึกกันตามจุดต่างๆ ภายในสวนลุม ซึ่งคนในแวดวงศิลปะการต่อสู้หรือคนที่สนใจจะรับรู้กันดีว่า ถ้าจะไปหามวยชนิดนี้ต้องไปหาใคร ที่ไหน และเวลาใด แล้วแต่ละสำนักเขาสอนอะไร?
       
       หย่งชุน-มวยแห่งทางสายกลาง 
       
       อาจารย์อนันต์ เจ้าสำนักมวยหย่งชุนกล่าวถึงวิชานี้ว่า "หย่งชุนก็คือทางสายกลาง เริ่มจากความสมดุลของร่างกาย ร่างกายต้องอยู่ในศูนย์กลาง การยืน การเดินต้องอยู่ในสมดุลจากหัวจดเท้า ทุกอย่างอยู่ในเซ็นเตอร์ไลน์ และการหาคู่ต่อสู้เราก็อยู่ในศูนย์กลาง จากศูนย์กลางของเราเข้าไปหาศูนย์กลางของคู่ต่อสู้ซึ่งเราจะวางมือของเราไว้ในแนวศูนย์กลางอยู่ตลอดเวลา อีกอย่างก็คือการใช้แรงเท่ากับศูนย์ การวางมือไว้ที่แนวศูนย์กลางจะไม่มีแรง แต่ว่าคู่ต่อสู้เข้ามาไม่ได้ เพราะเราใช้เซ็นเตอร์ไลน์ของเรารับแรงของคู่ต่อสู้ไว้ทั้งหมด พอเขาดันมาปุ๊บแรงจะจมลงพื้น สุดท้ายคือเราใช้การฟังแรง เมื่อเราไม่ได้ใช้แรงเราจะฟังแรงคู่ต่อสู้ออก คู่ต่อสู้ขยับนิดเดียวเราก็จะรู้"
       
       ตัวอาจารย์อนันต์ผ่านการฝึกศิลปะการต่อสู้มาทั้งมวยไทย เทควันโด และเรียนมวยจีนกับอาจารย์คันศร งามพึงพิศ ตั้งแต่อายุประมาณ 12-13 ปี กระทั่งไปเรียนต่อที่อเมริกาและได้มีโอกาสศึกษามวยหย่งชุนกับโรเบิร์ต ชู อาจารย์มวยหย่งชุนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของอเมริกา เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงมาเปิดสอนที่สวนลุมฯ หากนับถึงเวลานี้ก็ 18 ปีเข้าไปแล้ว ปัจจุบันมีผู้ที่สนใจมวยหย่งชุนหลายสิบคนที่มาฝึกซ้อมกันที่สวนลุมฯ ในตอนเช้าของวันอาทิตย์ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาจารย์อนันต์ฝากข้อคิดเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ไว้ว่า
       
       "เรียนมวยแล้วไม่ใช่ว่าจะกลายเป็นซูเปอร์แมน ซูเปอร์ฮีโร่ ไม่ใช่ หลายคนมองว่าฝึกมวยแล้วจะเป็นอะไรที่เก่งกาจตลอดเวลา นักมวยดังในอดีตพอถึงเวลาก็ต้องแขวนนวม เป็นไปไม่ได้ที่ว่าคุณจะแบกน้ำหนักไปสู้กับคนตัวใหญ่กว่ามากๆ แต่มวยบางอย่างเราสามารถทำให้เราซึ่งอาจจะมีน้ำหนักน้อยกว่า รูปร่างเล็กกว่า แต่สามารถสู้คนที่มีน้ำหนักมากกว่าแต่ไม่เป็นมวยได้ หรือสามารถที่จะหลบหลีกได้ "
       
       
ชมรมวูซูจีนแห่งประเทศไทย
 
       
       เฉินเหล่าซือ หรืออาจารย์เฉินเป็นชาวจีนโดยกำเนิด ฝึกมวยจีนมาหลากหลายแขนง ราวๆ ปี 2538 จึงย้ายมาอยู่เมืองไทยและเริ่มเปิดสอนวูซูมาตั้งแต่ตอนนั้น
       
       "ผมสอนพื้นฐานวูซู คือรวมทั้งไท้เก๊ก ชี่กง เส้าหลิน แต่ทุกแขนงต้องเริ่มจากพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นมือเปล่า อาวุธ หรือเล่นเพื่อการต่อสู้ วูซูเป็นของเก่าตั้งแต่ 5,000 ปีมาแล้ว แต่ก่อนมีแต่การต่อสู้อย่างเดียว หลังๆ เขากลัวลืมกระบวนท่าจึงคิดค้นขึ้นเป็นท่ารำเพื่อไม่ให้ลืม วูซูมีทั้งการฝึกเป็นหมอ ฝึกรำ จนสุดท้ายใช้ต่อสู้ได้ด้วย"
       
       เฉินเหล่าซือเล่าด้วยว่า เมื่อครั้งที่มาสอนที่สวนลุมใหม่ๆ มีอาจารย์ที่เป็นชาวจีนมาเปิดสอนมวยอยู่หลายคน แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งก็ต่างเงียบหายลาจากสวนลุมกันไปตามความผกผันของเวลาและเหตุการณ์ บ้างก็มาสอนจนคิดว่าศิษย์ที่ตนสอนนั้นเข้าใจดีแล้วก็กลับเมืองจีนไป ซึ่งเฉินเหล่าซือมองว่ามวยต่อให้เรียนไป 20 ปีก็ไม่มีวันจบ
       

       ฝ่ามือแปดทิศแห่งลานตะวันยิ้ม 
       
       สำนักมวยนี้โดยปกติจะฝึกซ้อมกันเองในกลุ่ม ซึ่งมีทั้งผู้สูงอายุไล่เรียงไปจนถึงวัยเด็ก เนื่องจากตัวอาจารย์หรือหลี่เหล่าซือผู้สอนเป็นชาวจีน จะเดินทางมาสอนที่เมืองไทยเพียงช่วง 3 เดือนสุดท้ายของทุกปีเท่านั้น
       
       ปากั้วจ่างหรือฝ่ามือแปดทิศ วิชามวยที่มีชื่อเสียงเรียงนามคลับคล้ายจะหลุดมาจากนวนิยายนี้คืออะไร? พูนศักดิ์ ผู้ฝึกฝ่ามือแปดทิศมากว่า 6 ปีเล่าว่า "ปากั้วเป็นศิลปะที่สอนให้เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขที่เข้ามาปะทะเรา หมายความว่าเวลาที่เราเผชิญกับอะไรสักอย่าง เราไม่สอนให้เข้าไปควบคุมสิ่งนั้น แต่เราฝึกให้คุณเคยชินที่จะเข้ารวมกับมัน เอาประโยชน์จากเงื่อนไขตรงนั้นมาประยุกต์ใช้ให้มันสอดคล้องกับผลพลอยได้ของเรา ทีนี้การแสดงออกปากั้วจึงเหมือนเป็นมวยรับ ตั้งรับ ก็คือว่าไม่มุ่งเน้นให้คุณไปต่อยตีกับคนอื่น แต่หมายความว่าให้ยอมรับในสิ่งที่เขามอบให้ และแปรเปลี่ยนให้เป็นโอกาสของเรา"
       
       ฝ่ามือแปดทิศนี้เข้ามาสอนที่สวนลุมได้ประมาณ 10 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นจากการฝึกเพื่อสุขภาพก่อน และช่วงหลังก็ขยับขยายมาเป็นการฝึกเพื่อเป็นศิลปะการต่อสู้ด้วย สำนักนี้อยู่บริเวณสนามเด็กเล่น 'ลานตะวันยิ้ม' แต่กับคนในวงการชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่า คือแห่งที่ของฝ่ามือแปดทิศ
       
       สำนักอาจารย์เส็ง 
       
       "ที่ผมสอนอยู่ตรงนี้เป็นวูซู คือการออกกำลังกาย เป็นยุทธลีลา ตอนนี้วูซูก็เป็นกีฬาที่ถูกบรรจุอยู่ในซีเกม เอเชี่ยนเกมส์ด้วย แต่ก็ยังเป็นที่รู้จักไม่กว้างขวางเท่าไหร่ วูซู ความหมายมันก็คือวิทยายุทธ์ ซึ่งวิทยายุทธ์มันก็มีหลายแขนง จะกล่าวว่ามวยไทย เทควันโด คาราเต้ เหล่านี้ก็คือวูซูในความหมายของวิทยายุทธ์เหมือนกัน แต่ในที่นี้จะหมายถึงศิลปะการต่อสู้สมัยใหม่ของจีน วูซูนี่จะมีการแบ่งเป็นไท้จี๋เฉวียน หนานเฉวียน ฉางเฉวียน และอาวุธ ซึ่งผมจะสอนเพื่อเน้นการออกกำลังกายและการเผยแพร่มากกว่า ผมไม่ได้เน้นให้ไปแข่งขัน แต่เน้นให้คนที่ไม่รู้จักให้ได้รู้จักมากกว่า"
       
       อาจารย์เส็งศึกษามวยจีนที่เรียกกันว่ามวยใต้ ซึ่งเป็นมวยที่เน้นการยืนพื้นฐานและการใช้มือเป็นหลัก จากอาจารย์มาลี เจ้าตำรับมาลีวูซู ปัจจุบันอาจารย์มาลีเดินทางไปสอนที่อเมริกา อาจารย์เส็งจึงต้องรับช่วงต่อจากอาจารย์มาลีอีกทอดหนึ่ง
       อาจารย์เส็งบอกอีกว่า
       "ผมฝึกมาทางสายมวยใต้ แต่ไม่ใช่มวยจีนโดยตรง เป็นมวยที่คิดขึ้นใหม่ของอาจารย์วีระเป็นมวย 18 อรหันต์ เป็นมวยช่วงกลางไม่ใช่โบราณหรือสมัยใหม่มาก คือผมจะนำมวยโบราณมาปรับให้ลีลามันปะติดปะต่อกัน"
       
       ในสายตาของคนทั่วไปการร่ายรำวูซูอาจถูกค่อนแคะว่าเป็นปาหี่ หากเนื้อในของมวยนั้นหาใช่อยู่ที่กระบวนท่าไม่ อาจารย์เส็งเปรียบเทียบให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า "วูซูถ้าในความคิดเห็นของผม มวยทุกชนิดมันป้องกันตัวได้ บางคนอาจจะบอกว่าวูซูคล้ายกับปาหี่ใช้ป้องกันตัวไม่ได้ แต่ผมคิดว่าเรามีปากกาสักหนึ่งด้าม มันก็อยู่ว่าผู้มีปากกาด้ามนี้จะใช้ประโยชน์อะไร ถ้าเป็นนักศึกษาก็คงเขียนจนหมึกหมดแล้วทิ้ง แต่ถ้าเป็นคนที่รู้จักศิลปะป้องกันตัว ปากกาด้ามนั้นก็ใช้ป้องกันตัวได้ ผู้ที่รู้จักใช้มันจะเข้าใจ"
       
       กลุ่มเสื้อดำ 
       
       กลุ่มนี้เป็นการรวมตัวกันของผู้ที่สนใจศิลปะการต่อสู้ในหลายแขนง สมาชิกในกลุ่มเป็นวัยรุ่นจนถึงวัยเริ่มต้นทำงาน ต่างคนต่างที่มาแต่พวกเขาก็มาใช้สวนลุมฯ แห่งนี้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนวิชาความรู้ด้านศิลปะการต่อสู้กัน โดยเฉพาะศาสตร์ที่เรียกว่ามวยภายใน หรือ Internal Style 
       
       มวยภายใน ชื่อนี้ยังเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่สำหรับวงการศิลปะการต่อสู้ในเมืองไทย นอกจากคนที่สนใจจริงๆ เท่านั้นจึงจะรู้จัก ซึ่งในช่วงหลังๆ มานี้ อิทธิพลของการ์ตูนญี่ปุ่นก็มีส่วนทำให้คนหันมาสนใจมวยภายในกันมากขึ้น
       
       ภราดา อธิบายมวยภายในไว้ดังนี้ "ปากั้ว ไท้จี๋ สิ่งอี้ มันมีหลักการเดียวกันคือใช้ลักษณะของโครงสร้างร่างกายกับจิตรวมกันและใช้อย่างถูกต้อง และก็สบายด้วย ทำให้พลังงานไหลไม่ขาดตอน คือมีตำแหน่งของร่างกายที่ถูกต้อง เมื่อถูกต้องก็เกิดการผ่อนคลาย เมื่อผ่อนคลายก็จะทำให้สุขภาพของร่างกายดีขึ้น แล้วก็ใช้จิตเข้าไปควบคุม ทำให้สมาธิดีขึ้นนำไปสู่การมีประสิทธิภาพของร่างกายที่สูงขึ้น หนทางของการฝึกค่อนข้างจะละเอียด เพราะคนเกิดมามันไม่มีแรง แต่หลังถูกฝึกให้ใช้แรงเยอะๆ เข้า เราต้องย้อนกลับไปว่าจะทำยังไงให้ไม่มีแรง เพรายังไงเราก็ไม่มีแรงอยู่ดีตามหลักเกิดแก่เจ็บตาย เราจึงต้องทำให้เกิดการผ่อนคลาย"
       
       ทุกวันนี้กลุ่มเสื้อดำมีสมาชิกอยู่ประมาณ 10 คน แต่เนื่องด้วยเป็นวิชาที่ค่อนข้างใหม่สำหรับเมืองไทย รวมถึงเอกลักษณ์ของคนในกลุ่มที่มักใส่เสื้อดำ จึงกลายเป็นที่รู้จักกันดีในสวนลุมฯ และคนในวงการ
       
       วิถียุทธจักร 
       
       การที่มีคนสนใจศิลปะการต่อสู้หลากหลายแขนงมารวมกันอยู่ในแหล่งเดียวกัน ทั้งยังมีผู้คนจำนวนมาใช้บริการในสวนลุมฯ ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการกระทบกระทั่งกัน หรืออาจจะมีถึงขั้นที่เรียกว่า 'ลองของ'
       
       ทุกๆ คนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เรื่องการกระทบกระทั่งระหว่างสำนักหรือผู้ฝึกมวยนั้นก็มีบ้างแต่น้อยเต็มที ส่วนใหญ่จะรู้จักเป็นเพื่อนฝูงกัน หากจะมีการกระทบกระทั่งก็เป็นในเรื่องของความคิดเห็นเกี่ยวกับมวยที่ไม่ตรงกันมากกว่า ส่วนเรื่องลองของนั้นมีบ้างประปราย บ้างก็หลีกเลี่ยง แต่บ้างก็ชี้แนะกันพอหอมปากหอมคอ
       
       อาจารย์อนันต์เล่าว่า "สมัยก่อนที่มาก็จะมีคนมาลองของเยอะพอสมควร แต่หลังๆ พอรู้ว่าใครเป็นใครแล้วทุกคนก็เคารพซึ่งกันและกัน คือสมัยก่อนใครที่เป็นวิชาก็จะมีคนที่มาลองของ"
       
       หรือภราดาก็เล่าประสบการณ์การลองของว่า "มีบ้าง แต่ส่วนมากจะดูจากเจตนาก่อน จะถามเลยครับ ถามตรงๆ ว่ามาถาม มาเรียนรู้ หรือว่ามาลองจะได้จัดให้ถูก คือไม่ได้ทำอะไรนะครับ แต่หมายถึงว่าการที่เราจะสอนใครบางคน เราไม่ต้องไปตีเขาก็ได้ เราแค่ลูบหัวสบายๆ ก็ได้"
       
       นอกจากสำนักต่างๆ ที่กล่าวมานี่ ยังมีอีกหลายกลุ่มทั้งใหญ่และเล็กที่สอนมวยอยู่อีกหลายกลุ่มในสวนลุมฯ อาจเรียกได้ว่าที่แห่งนี้คือแหล่งรวมวิชายุทธ์ที่มากที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย เป็นตลาดวิชาราคาถูกที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษา
       
       พูนศักดิ์เชื่อว่า "ผมกล้าพูดได้ว่าทุกแขนงวิชาที่มีสอนในประเทศไทย คุณสามารถหาบุคลากรได้ในสวนลุมฯ รู้มาก รู้น้อยขนาดไหนนั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ถ้าพูดถึงแขนงวิชา คุณยกมาวิชาหนึ่งผมกล้าพูดได้เลยว่าสวนลุมฯ เคยมี แต่ ณ บัดนี้ เดี๋ยวนี้อาจจะไม่มี แต่ในอดีต มี เคยมีครับ ทุกวิชา"
       

       แม้ใครหลายคนจะมองว่าเรื่องหมัดๆ มวยๆ เป็นเรื่องของความรุนแรงและกลุ่มคนที่อยากเท่ แต่หากใครได้ลองมาสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่า ศิลปะ แขนงนี้แล้ว อาจทำให้เข้าใจได้ประการหนึ่งว่า การต่อยตีเป็นเพียงเปลือกนอกอันเบาบางเท่านั้นสำหรับศิลปะการต่อสู้ หากเนื้อแท้แล้วมันคือการต่อสู้กับตัวเองเป็นหลักใหญ่ เพื่อสร้างความเข้าใจ...เข้าใจในสภาวะธรรมชาติ เพื่อเข้าใจตัวเอง และเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
       ////////////////////
       
       

       เรื่อง : กฤษฏา ศุภวรรธนะกุล

Advertising Zone    Close


Online: 1 Visits: 21,133 Today: 12 PageView/Month: 871

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...